องค์ประกอบหลักของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ มีอะไรบ้าง

by admin
33 views

ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm System) เป็นหนึ่งในระบบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันและลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไฟไหม้ ซึ่งสามารถช่วยเตือนภัยล่วงหน้าให้กับผู้อยู่ในพื้นที่และช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้ ระบบนี้มีการทำงานที่ซับซ้อนและประกอบไปด้วยอุปกรณ์หลายชนิด ที่ใช้ในการทำงานและแจ้งเตือนบุคลากรและผู้อยู่อาศัยในสถานที่ที่เกิดเหตุ

องค์กรที่ต้องการระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่มีประสิทธิภาพสูงนั้น ควรมีการออกแบบและติดตั้งระบบดังกล่าวโดยสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยทางกฎหมาย อาทิ มาตรฐานของ NFPA และ มาตรฐาน วสท. (วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์) นอกจากนี้ยังควรมีการตรวจสอบระบบไฟอลาม และบำรุงรักษาระบบไฟอลามอย่างสม่ำเสมอ และใช้บริการตรวจประจำปีจากทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ

ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ มีองค์ประกอบอะไรบ้าง

ในระบบไฟอลาม บางสถานที่อาจมีอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่จะแตกต่างกันไปแต่องค์ประกอบหลักๆ ที่ต้องมีแน่ๆเลย คือ 5 องค์ประกอบนี้ :

1. ตู้ควบคุม (Control Panel)

ตู้ควบคุมสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm Control Panel) เป็นหัวใจหลักของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ทำหน้าที่รับข้อมูลจากอุปกรณ์เริ่มสัญญาณ (Initiating Devices) ประมวลผลข้อมูล และส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์แจ้งเตือนต่างๆ ตู้ควบคุมมีส่วนประกอบหลัก ได้แก่:

  • ชุดจ่ายไฟ (Power Supply Unit): ชุดจ่ายไฟนี้ทำหน้าที่ส่งกระแสไฟฟ้าให้กับระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ทั้งหมด โดยมีการคำนวณให้สามารถจ่ายไฟได้เพียงพอในขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ และยังมีระบบชาร์จไฟอัตโนมัติ (Charger) เพื่อเติมพลังงานให้กับแบตเตอรี่สำรอง
  • ชุดสำรองไฟ (Battery Unit): เป็นชุดที่ทำหน้าที่สำรองพลังงานในกรณีที่ไฟฟ้าหลักขัดข้อง ชุดนี้ต้องสามารถจ่ายไฟให้ระบบทำงานได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงในสภาวะปกติ และไม่น้อยกว่า 15 นาทีในสภาวะฉุกเฉิน

นอกจากนี้ ตู้ควบคุมยังมีไฟแสดงสถานะต่างๆ เช่น ไฟแสดงการทำงานของระบบ ไฟแสดงการขัดข้อง รวมถึงปุ่มสำหรับควบคุมการทำงาน เช่น ปุ่มรับทราบเหตุการณ์ (Acknowledge) ปุ่มหยุดเสียงการแจ้งเหตุ (Silence) และปุ่มรีเซ็ต (Reset)

Smoke Detector

2. อุปกรณ์เริ่มสัญญาณ (Initiating Devices)

อุปกรณ์เริ่มสัญญาณทำหน้าที่ตรวจจับเหตุการณ์เพลิงไหม้และส่งสัญญาณไปยังตู้ควบคุม โดยอุปกรณ์เริ่มสัญญาณแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ

2.1 อุปกรณ์เริ่มสัญญาณแบบมือดึง (Manual Pull Station)

อุปกรณ์นี้เป็นอุปกรณ์ที่บุคคลสามารถดึงหรือกด เพื่อแจ้งเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่พบเจอ ส่วนมากจะติดตั้งในที่สาธารณะหรือที่ที่เห็นได้ชัดเจน เช่น บริเวณประตูทางออก เพื่อให้ผู้พบเหตุสามารถแจ้งเตือนเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็ว

2.2 อุปกรณ์เริ่มสัญญาณอัตโนมัติ (Automatic Detectors)

อุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณอัตโนมัติ ทำหน้าที่ตรวจจับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเพลิงไหม้ โดยมีหลายชนิด ได้แก่:

  • อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน (Heat Detector): ตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในพื้นที่ โดยมีทั้งแบบตรวจจับอุณหภูมิที่กำหนด (Fixed Temperature) และแบบตรวจจับอัตราการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ (Rate of Rise Temperature)
  • อุปกรณ์ตรวจจับควัน (Smoke Detector): ทำหน้าที่ตรวจจับควันที่เกิดจากเพลิงไหม้ โดยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบ Ionization และแบบ Photoelectric
  • อุปกรณ์ตรวจจับควันลำแสง (Projected Beam Detector): เหมาะสำหรับพื้นที่กว้าง เช่น คลังสินค้า ใช้หลักการตรวจจับการบังของลำแสง เมื่อมีควันลอยผ่านระหว่างอุปกรณ์ส่งและรับ
  • อุปกรณ์ตรวจจับควันในท่อลม (Duct Smoke Detector): ใช้ในระบบท่อลมสำหรับตรวจจับควันที่เกิดขึ้นภายในท่ออากาศของระบบปรับอากาศ
  • อุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟ (Flame Detector): ตรวจจับเปลวไฟจากการเผาไหม้ของวัตถุไวไฟ เช่น น้ำมันหรือก๊าซ มีทั้งแบบตรวจจับแสงอินฟราเรด (Infrared) และแสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet)
  • อุปกรณ์ตรวจสอบการไหลของน้ำ (Water Flow Switch) และสถานะวาล์วน้ำ (Supervisory Switch): ติดตั้งในระบบสปริงเกลอร์เพื่อตรวจสอบการทำงานของระบบดับเพลิง

3. อุปกรณ์แจ้งสัญญาณ (Notification Appliance Devices, NAC)

อุปกรณ์แจ้งสัญญาณทำหน้าที่แจ้งเตือนผู้ที่อยู่ในพื้นที่เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ โดยอาจเป็นสัญญาณเสียงหรือแสงเพื่อแจ้งเตือนการอพยพ เช่น:

  • กระดิ่ง (Bell): ใช้แจ้งเตือนด้วยเสียงที่ดังชัดเจน
  • เสียงอิเล็กทรอนิกส์ (Horn): เป็นเสียงแจ้งเตือนที่ปรับเปลี่ยนได้ตามลักษณะของอาคาร
  • ลำโพง (Speaker): ใช้ในการประกาศแจ้งเหตุฉุกเฉิน
  • สัญญาณไฟกระพริบ (Strobe): ใช้แจ้งเตือนด้วยแสง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีเสียงดัง

การเลือกใช้ประเภทของสัญญาณแจ้งเตือนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่และชนิดของอาคาร

4. อุปกรณ์แยกแจ้งสัญญาณ (Graphic Annunciator)

อุปกรณ์นี้มีหน้าที่แสดงตำแหน่งที่เกิดเหตุเพลิงไหม้บนแผนผังอาคาร ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถระบุและเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว โดยแผนผังจะแสดงตำแหน่งของอุปกรณ์ตรวจจับและแจ้งเหตุทั้งหมด เพื่อช่วยในการระงับเหตุที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. อุปกรณ์เสริม (Auxiliary Devices)

อุปกรณ์เสริม ทำหน้าที่เพิ่มเติมในการตรวจจับและแจ้งเหตุหรืออำนวยความสะดวก ให้กับระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เช่น:

  • อุปกรณ์ตรวจสอบการทำงานของระบบ (System Monitor): ใช้ในการตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ เช่น ตรวจสอบความพร้อมของไฟฟ้าหลักและไฟสำรอง
  • อุปกรณ์ส่งข้อมูล (Communicator): ใช้ส่งสัญญาณแจ้งเหตุไปยังศูนย์ควบคุมระยะไกลหรือหน่วยงานดับเพลิงภายนอก
  • อุปกรณ์ควบคุมการระบายอากาศ (Fan Control): ทำหน้าที่เปิดหรือปิดระบบระบายอากาศเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของควันในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้

การพัฒนาระบบไฟอลาม

การพัฒนาระบบไฟอลาม: ความเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีความปลอดภัยอื่น ๆ

ในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโยี เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ระบบไฟอลามเองก็ไม่ใช่เพียงแค่เป็นเครื่องมือในการตรวจจับและแจ้งเตือนเพลิงไหม้ แต่ยังสามารถเชื่อมโยงกับระบบความปลอดภัยอื่น ๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยโดยรวมที่ดียิ่งขึ้น ดังนี้

1. การเชื่อมโยงกับระบบความปลอดภัยอื่น ๆ

ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้สามารถเชื่อมต่อกับระบบความปลอดภัยอื่น ๆ เช่น:

  • ระบบกล้องวงจรปิด: สามารถติดตามเหตุการณ์ในพื้นที่ที่มีการแจ้งเตือนเพลิงไหม้ ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถมองเห็นสถานการณ์จริงและตัดสินใจได้เร็วขึ้น
  • ระบบควบคุมการเข้าถึง: ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ระบบนี้สามารถล็อคหรือปลดล็อคประตูเพื่อควบคุมการเข้าออกของผู้คน ทำให้การอพยพเป็นไปอย่างมีระเบียบ

2. การทำงานร่วมกับทีมดับเพลิง

เมื่อมีการแจ้งเตือนเพลิงไหม้ ระบบจะส่งสัญญาณไปยังทีมดับเพลิงหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง ระบบสามารถช่วยในการระบุจุดที่เกิดไฟไหม้ได้อย่างแม่นยำ ทำให้การเข้าถึงและการดับเพลิงทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

3. การทำงานร่วมกับระบบดับเพลิงอัตโนมัติ

มีในหลายๆอาคารที่ใช้ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้พร้อมติดตั้งระบบดับเพลิง เมื่อระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ตรวจพบความร้อนหรือควัน ระบบดับเพลิงอัตโนมัติจะเริ่มทำงานทันที โดยการพ่นน้ำหรือสารดับเพลิงลงในพื้นที่ที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ระบบสเปรย์น้ำหรือโฟม เพื่อทำให้การดับไฟมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยการใช้เซนเซอร์ที่สามารถตรวจจับความร้อน ควัน และก๊าซพิษในอากาศ ทำให้ระบบสามารถระบุสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ เซนเซอร์เหล่านี้จะส่งข้อมูลไปยังทั้งระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้และระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เพื่อให้การตอบสนองเป็นไปอย่างเหมาะสม

สรุป

ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้เป็นหนึ่งในระบบความปลอดภัยที่จำเป็นสำหรับอาคารทุกประเภท เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตรวจจับและแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การทำงานของระบบนี้ต้องพึ่งพาอุปกรณ์หลากหลายประเภทที่ทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นตู้ควบคุม, อุปกรณ์เริ่มสัญญาณ, อุปกรณ์แจ้งสัญญาณ, อุปกรณ์แยกแจ้งสัญญาณ และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ทุกส่วนล้วนมีบทบาทสำคัญในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินจากอันตรายของไฟไหม้

บทความที่น่าสนใจ

สำนักงาน

ที่อยู่ 98/16 หมู่ 18 ถนนเชียงราก
ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง
จังหวัดปทุมธานี 12120 (TU dome plaza ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต) ชั้น 3

ติดต่อสอบถาม

065 – 441 – 9324 (วิศวกรรม)

061 – 664 – 4135

eng@safesiri.com

Copyright @2024   ตรวจไฟอลาม Developed website and SEO by iPLANDIT