การป้องกันอุบัติเหตุเพลิงไหม้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม และหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยง คือ การติดตั้งระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ ที่สามารถช่วยตรวจจับสัญญาณของเพลิงไหม้ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้สามารถดำเนินการอพยพหรือระงับเหตุได้ทันที อย่างไรก็ตาม การเลือกระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ที่เหมาะสมกับประเภทของอาคาร เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของอาคาร ควรคำนึกถึงเป็นอย่างแรกก่อนติดตั้งระบบแจ้งเตือนเพลิงไหม้ เนื่องจากแต่ละสถานที่มีลักษณะทางกายภาพ ขนาด และระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน
ควรทำความเข้าใจระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ ที่ตรงกับความต้องการของอาคารแต่ละประเภท เป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้
ระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ (Fire Alarm) คือ
ระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ คือ ระบบที่ใช้ในการตรวจจับสัญญาณของเหตุเพลิงไหม้และแจ้งเตือนผู้คนภายในอาคารหรือสถานที่เมื่อมีการตรวจพบสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับเพลิงไหม้ เช่น ควัน, ความร้อน หรือเปลวไฟ ระบบจะทำหน้าที่เตือนภัยผ่านเสียงสัญญาณ, แสงไฟ หรือการส่งสัญญาณไปยังศูนย์ควบคุมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทราบและดำเนินการตามมาตรการฉุกเฉินได้ทันที
ระบบแจ้งเตือนไฟไหม้มีประโยชน์ในด้านความปลอดภัย เนื่องจากช่วยเพิ่มโอกาสในการป้องกันและลดความสูญเสีย ที่อาจเกิดขึ้นจากเพลิงไหม้ โดยระบบนี้จะประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจจับ, ตู้ควบคุม, และอุปกรณ์แจ้งเตือน ซึ่งทั้งหมดทำงานร่วมกันเพื่อตรวจจับเหตุการณ์เพลิงไหม้ตั้งแต่ระยะแรกและแจ้งเตือนผู้ที่อยู่ในสถานที่นั้นให้ทราบทันที
ประเภทของระบบแจ้งเตือนไฟไหม้
ระบบแจ้งเตือนไฟไหม้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ระบบ Addressable และ ระบบ Conventional ซึ่งแต่ละระบบมีลักษณะการทำงานและข้อดีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ควรพิจารณาว่าระบบใดเหมาะสมกับอาคารแต่ละประเภท ดังนี้
1. Addressable Fire Alarm System (ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้แบบระบุตำแหน่ง)
ลักษณะการทำงาน
ระบบแจ้งเตือนไฟไหม้แบบ Addressable เป็นระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ที่สามารถระบุตำแหน่ง ที่จะดำเนินงานโดยใช้หมายเลขประจำของอุปกรณ์ตรวจจับ ทุกอุปกรณ์ในระบบจะมีหมายเลขเฉพาะเจาะจงซึ่งจะมีหมายเลขที่ซ้ำกัน หากเกิดการตรวจจับเหตุเพลิงไหม้ ระบบจะสามารถแจ้งเตือนได้อย่างละเอียดว่า การตรวจจับเกิดขึ้นที่อุปกรณ์ใด ทำให้สามารถระบุตำแหน่งของจุดเกิดเหตุได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น
การเดินสายสัญญาณ
การเดินสายสัญญาณของระบบ Addressable จะใช้การเดินสายแบบ Loop ซึ่งใช้สายสัญญาณ 2 เส้น ออกจากตู้ควบคุมไปยังอุปกรณ์ทุกตัวในระบบตามลำดับ เมื่อสายเดินไปถึงอุปกรณ์ตัวสุดท้ายใน Loop สายจะวนกลับมายังตู้ควบคุม ทำให้มีการเชื่อมต่อของสายเข้าและออก ซึ่งเมื่อมีปัญหาสายขาดในช่วงใดช่วงหนึ่ง ระบบยังสามารถใช้งานได้อย่างปกติเนื่องจากการเดินสายแบบ Loop นี้
ข้อดี
- ระบบ Addressable มีความสามารถในการระบุจุดที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้การเข้าถึงจุดเกิดเหตุเป็นไปอย่างรวดเร็ว
- ความยืดหยุ่นสูง สามารถขยายระบบได้ง่ายผ่านการเชื่อมต่อ Module
- หากสายสัญญาณเกิดขาดในช่วงใดช่วงหนึ่ง อุปกรณ์ในระบบยังคงทำงานได้ตามปกติ
- สามารถแสดงผลต่างๆ ได้อย่างละเอียดจากตู้ควบคุม
ข้อจำกัด
- ระบบ Addressable ค่อนข้างซับซ้อนและต้องอาศัยความรู้ในการติดตั้งและโปรแกรมระบบ
- ค่าใช้จ่ายสูงกว่าระบบ Conventional ทั้งในด้านตู้ควบคุมและอุปกรณ์ตรวจจับ
สถานที่ที่เหมาะสม
ระบบ Addressable เหมาะกับอาคารขนาดใหญ่หรืออาคารที่มีโครงสร้างซับซ้อน เช่น โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงานสูง โรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรม อาคารที่มีพื้นที่กว้าง หรืออาคารที่ต้องการการแจ้งเตือนอย่างละเอียดแม่นยำเพื่อความปลอดภัยสูงสุด
2. Conventional Fire Alarm System (ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้แบบระบุโซน)
ลักษณะการทำงาน
ระบบแจ้งเตือนไฟไหม้แบบ Conventional เป็นระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ที่มีการแจ้งเตือนแบบระบุโซน โดยโซนที่แจ้งเตือนจะถูกแบ่งตามการเดินสายสัญญาณมายังตู้ควบคุม การตรวจจับเหตุเกิดขึ้นในโซนใดก็จะมีการแจ้งเตือนเฉพาะโซนนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น หากมีการตรวจจับเหตุในโซน ก ตู้ควบคุมจะทำการแจ้งเตือนว่ามีเหตุเกิดขึ้นในโซน ก แต่จะไม่สามารถระบุตำแหน่งได้รายละเอียดว่าเหตุเกิดไหนใน โซนนั้น
การเดินสายสัญญาณ
ระบบ Conventional ใช้การเดินสายสัญญาณแบบ Class B ซึ่งใน 1 โซนจะมีสายสัญญาณ 2 เส้น จากตู้ควบคุมไปยังอุปกรณ์ตัวสุดท้ายในโซน โดยจำเป็นต้องใช้ตัว End of Line ที่อุปกรณ์ตัวสุดท้ายเพื่อให้ตู้ควบคุมรับรู้ว่ามีการสิ้นสุดของวงจร
ข้อดี
- ติดตั้งง่าย ใช้การเชื่อมต่อสายสัญญาณโดยไม่ต้องโปรแกรมตู้ควบคุมซับซ้อน
- ค่าใช้จ่ายต่ำกว่า Addressable ทั้งในด้านตู้ควบคุมและอุปกรณ์ตรวจจับ
- เหมาะสำหรับอาคารขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่ไม่ต้องการระบบที่ซับซ้อน
ข้อจำกัด
- ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่เกิดเหตุได้อย่างชัดเจนภายในโซนที่เกิดการแจ้งเตือน ทำให้การเข้าถึงจุดเกิดเหตุอาจใช้เวลามากขึ้น
- จำนวนโซนสูงสุดถูกจำกัดตามขนาดของตู้ควบคุม ซึ่งมี 2 ขนาดให้เลือกคือ 8 โซนและ 16 โซน
สถานที่ที่เหมาะสม
ระบบ Conventional เหมาะกับอาคารขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีโครงสร้างพื้นที่ไม่ซับซ้อน เช่น อาคารสำนักงานขนาดเล็ก โฮมออฟฟิศ โรงงานขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ตึกแถว โรงเรียน หรืออพาร์ทเม้นท์ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง
การเลือกระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ที่เหมาะสมกับอาคารแต่ละประเภท
การเลือกใช้ระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ที่เหมาะสมกับอาคารขึ้นอยู่กับขนาดของอาคาร โครงสร้างของพื้นที่ และความซับซ้อนในการติดตั้ง นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ ความต้องการในการแจ้งเตือนที่รวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงงบประมาณที่สามารถใช้ได้
อาคารขนาดเล็กถึงขนาดกลาง
อาคารประเภทนี้ เช่น โฮมออฟฟิศ โรงงานขนาดเล็ก โรงเรียน หรืออพาร์ทเม้นท์ ระบบ Conventional จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เนื่องจากการแจ้งเตือนในลักษณะโซนเพียงพอต่อการใช้งาน อีกทั้งยังสามารถติดตั้งได้ง่ายและมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้การเดินสายสัญญาณก็ไม่ซับซ้อนเท่าระบบ Addressable เหมาะสำหรับการใช้งานที่ไม่ต้องการการแจ้งเตือนอย่างละเอียดในแต่ละจุด
อาคารขนาดใหญ่หรือโครงสร้างที่ซับซ้อน
สำหรับอาคารที่มีขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล หรืออาคารสำนักงานที่มีหลายชั้น ควรเลือกใช้ระบบ Addressable เนื่องจากสามารถระบุจุดที่เกิดเหตุได้อย่างแม่นยำ ทำให้สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็วและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ระบบ Addressable ยังมีความยืดหยุ่นสูง สามารถขยายระบบได้ในอนาคต
ตารางสรุปที่ช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นในการเลือกระบบที่เหมาะสม:
ประเภทอาคาร | ระบบที่เหมาะสม | เหตุผล |
---|---|---|
อพาร์ทเม้นท์/คอนโดมิเนียม | Addressable Fire Alarm System | มีพื้นที่และจำนวนห้องมาก การแจ้งเตือนแบบระบุตำแหน่งช่วยให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุได้รวดเร็ว |
โรงแรม | Addressable Fire Alarm System | ความซับซ้อนของพื้นที่และจำนวนห้องพักสูง ต้องการการระบุตำแหน่งที่แม่นยำของเหตุเพลิงไหม้เพื่อการตอบสนองที่รวดเร็ว |
อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ | Addressable Fire Alarm System | อาคารขนาดใหญ่มีความซับซ้อนของพื้นที่ การแจ้งเตือนที่ระบุตำแหน่งช่วยในการจัดการความปลอดภัยได้ดี |
ห้างสรรพสินค้า/ฮอลล์จัดแสดงสินค้า | Addressable Fire Alarm System | พื้นที่ขนาดใหญ่และซับซ้อน ต้องการระบบที่สามารถแจ้งเตือนอย่างละเอียดในกรณีที่เกิดเหตุในจุดต่าง ๆ |
โรงพยาบาล | Addressable Fire Alarm System | ความปลอดภัยในโรงพยาบาลสำคัญ การแจ้งเตือนแบบระบุตำแหน่งช่วยให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุและป้องกันการแพร่กระจายเพลิงได้เร็ว |
โรงงานอุตสาหกรรม | Addressable Fire Alarm System | พื้นที่ขนาดใหญ่และความซับซ้อนสูง ต้องการระบบที่สามารถแจ้งเตือนอย่างแม่นยำและรองรับการขยายตัวของพื้นที่ได้ |
ตึกแถว/โฮมออฟฟิศ | Conventional Fire Alarm System | พื้นที่ขนาดเล็กถึงปานกลาง ระบบ Conventional สามารถตอบสนองได้เพียงพอและไม่จำเป็นต้องระบุตำแหน่งที่แม่นยำมากนัก |
โรงเรียน | Conventional Fire Alarm System | พื้นที่ไม่ซับซ้อน สามารถใช้ระบบ Conventional เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและดูแลรักษาได้ง่าย |
โรงงานขนาดเล็กถึงปานกลาง | Conventional Fire Alarm System | พื้นที่ไม่ซับซ้อนมาก ระบบ Conventional เหมาะสมกับการใช้งานในโรงงานที่มีขนาดเล็กถึงปานกลาง |
อพาร์ทเม้นท์/คอนโดขนาดเล็กถึงปานกลาง | Conventional Fire Alarm System | เนื่องจากขนาดพื้นที่ไม่เยอะ การแจ้งเตือนเป็นโซนจึงเพียงพอในการตอบสนองต่อเหตุเพลิงไหม้ |
โรงแรมขนาดเล็กถึงปานกลาง | Conventional Fire Alarm System | ระบบแจ้งเตือนแบบ Conventional เหมาะสำหรับการแจ้งเตือนในพื้นที่ที่ไม่ใหญ่และสามารถแบ่งโซนได้ชัดเจน |
หากคุณกำลังมองหาบริการติดตั้งระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ หรือระบบไฟอลาม จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พร้อมออกแบบ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับประเภทไฟอลามที่เหมาะสมกับอาคารของคุณ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ตรวจไฟอลาม.com
ติดต่อ : eng@safesiri.com
สรุป
การเลือกระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ที่เหมาะสมกับอาคารแต่ละประเภทต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขนาดของอาคาร ความซับซ้อนของโครงสร้าง ความเสี่ยงในการเกิดเหตุเพลิงไหม้ และงบประมาณ ระบบ Conventional เหมาะกับอาคารขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีพื้นที่ไม่ซับซ้อน ขณะที่ระบบ Addressable เหมาะกับอาคารขนาดใหญ่หรือที่มีความซับซ้อนและต้องการการแจ้งเตือนที่แม่นยำ